บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพ่อหลวง

 บทเพลงพระราชนิพนธ์ของพ่อหลวง

เพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” “Candlelight Blues”  

เป็นเพลงแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนเมษายน 2489 ขณะที่ทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เป็นเพลงในจังหวะบลูส์ และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทย แต่เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะทรงแก้ไขให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงยังไม่โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลง ซึ่งศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ประเสริฐ ณ นคร เล่าว่า “สมเด็จพระอนุชาฯ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ) ตรัสว่า เพลง “แสงเทียน” นี่เศร้าเกินไปในตอนท้ายๆ คล้ายๆ ว่า ‘ทนทรมานมามากแล้วจะกราบลา’ ท่านจักรพันธ์ฯ ก็กราบบังคมทูลว่าเนื่องจากเป็นเพลงบลูส์ เพลงบลูส์ของอเมริกันนิโกรก็เศร้าๆ อย่างนี้ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า ถึงแม้จะเศร้าก็จริง แต่ตอนท้ายของเพลงนั้นเขาต้องมีปรัชญาชีวิต ว่าจะต่อสู้ต่อไป ยังมีความหวังอยู่” 

เพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” ออกบรรเลงช้ากว่าเพลงที่สองและสาม คือ เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” และ “สายฝน” ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้วงสุนทราภรณ์นำเพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเทียน” ออกบรรเลง มีนายเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ขับร้อง และในพ.ศ. 2496 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล ประพันธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษ


เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” “Love At Sundown”  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในโอกาสเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพื่อสมทบทุน “โครงการพัฒนาตามพระราชประสงค์” ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2524 ว่า “เพลง ‘ยามเย็น’ เพลงที่สองนั้นนะ เป็นเพลงพี่ของเพลง ‘สายฝน’ แก่เดือนไป 1 เดือน เขาเกิดเดือนเมษายน (2489)” ทรงพระราชนิพนธ์เพลง“ยามเย็น”ตั้งแต่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช และโปรดเกล้าฯ ให้ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ 

เพลงพระราชนิพนธ์“ยามเย็น” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่พระราชทานให้นำออกบรรเลงในงานของสมาคมป้องกันวัณโรคเป็นเพลงในจังหวะฟ็อกซ์ทร็อต เหมาะสำหรับการเต้นรำของคนไทยในสมัยนั้นจึงเป็นที่ประทับใจพสกนิกรมาก และกลายเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมทันทีแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า“เพลง ‘ยามเย็น’ นี้เป็นที่รู้จัก แต่ไม่โด่งดังเหมือน ‘สายฝน’ “


เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” “Falling Rain”

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงที่ 3 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2489 ขณะที่ยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงเป็นเพลงที่ 2 ต่อจากเพลงพระราชนิพนธ์ “ยามเย็น” ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯให้ศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ฯ ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ เพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” นี้ เป็นเพลงจังหวะวอลทซ์มีลีลานุ่มนวล และอาจกล่าวได้ว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่พสกนิกรชื่นชอบมากที่สุดเพลงหนึ่ง 

เมื่อวันพุธที่ 16 ธันวาคม 2524 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสกับคณะกรรมการของสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยถึงที่มาของเพลง ซึ่งเป็น “ความลับ” ในการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ว่า

“...คืนวันนั้นที่แต่งเพลงเพราะว่าเข้านอนแล้วฟังวิทยุ มันเกิดครึ้มใจก็ปิดวิทยุแล้วเอา

เศษกระดาษมาขีดๆแล้วก็จดไว้...แล้ววันรุ่งขึ้นก็ไปเคาะที่เปียโนซึ่งมีเปียโนหลังหนึ่งที่โปเกเสียงก๊องๆแก๊งๆ ไม่ได้เรื่อง แต่ก็เคาะไป แล้วก็เรียบเรียงไปสัก 2 ชั่วโมงส่งไปให้ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ บอกว่าได้เพลงแล้ว... ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริก็ส่งไปให้ครูเอื้อ ครูเอื้อก็เรียบเรียง 

วันรุ่งขึ้นออกสวนอัมพรแล้ว” “ความลับของเพลง ‘สายฝน’ นั้นมีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขียนไป 4 ช่วง...ช่วงที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 เสร็จแล้วเอาช่วงที่ 3 มาแลกกับช่วงที่ 2 กลับไปทำให้เพลงนี้มีลีลาต่างกันไป ก็รู้สึกว่าดี ทีแรกก็เป็น 1,2,3,4 มาตอนนี้ก็เลยกลายเป็นอยู่อย่างปัจจุบันนี้...” 

จากพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” 

ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายเงินเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ทรงเล่าถึงความปีติยินดี ในฐานะของผู้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงเมื่อทรงทราบว่าเพลงนั้นๆ เป็นที่นิยมชมชอบอย่างมากในหมู่ผู้ฟังว่า

“...ครั้งโน้น เสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านไปด้วยในงานของสมาคมเลี้ยงไก่ท่านหันมาพยักหน้า บอกว่าดี เราก็ปลื้มใจ คือเพลง “สายฝน” เป็นที่พอพระทัยของเสด็จในกรมชัยนาทฯ ก็เลยทำให้ปลื้มใจ เพราะว่าเสด็จในกรมชัยนาทฯนี้ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นลุงองค์เดียวที่เหลือมาตอนหลังและที่สนิทสนมเพราะเสด็จในกรมชัยนาทฯ ท่านเป็นลูกเลี้ยงของสมเด็จพระพันวัสสาฯเมื่อท่านประสูติพระมารดาก็สิ้นไป สมเด็จพระพันวัสสาฯ ก็มาเลี้ยงตั้งแต่แบเบาะ

สมเด็จพระพันวัสสาฯ ถือว่าเสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้เป็นเหมือนลูกของท่านแท้ๆจึงสนิทสนม และเมื่อไปที่ไหนท่านก็ไปด้วย ต่อมาท่านได้เป็นผู้สำเร็จราชการท่านนับว่ามีพระคุณอย่างยิ่ง แล้วก็ทราบว่า เสด็จในกรมชัยนาทฯ นี้ท่านโปรดดนตรีแต่ท่านไม่โปรดดนตรีอย่างที่เขียนหรือ

ที่เล่น ท่านโปรดดนตรีคลาสสิค...ดนตรีพวกโอเปร่า เมื่อท่านหันมาพยักหน้าว่าดี ก็ปลื้มใจมาก พูดถึงเพลง ‘สายฝน’ นี้เป็นเพลงที่มีความภูมิใจมากเพราะว่าท่านหันมาพยักหน้าว่าดี” 

นอกจากนั้น ก็คงทราบเรื่องที่ หม่อมเจ้าจักรพันธ์คือพระองค์เจ้าจักรพันธ์ฯ ท่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านไปเชียงใหม่ ครั้งนั้นประมาณ 6 เดือน หลังจากที่เพลง ‘สายฝน’ ได้ออกมา ท่านเดินไปตามทาง เข้าไปในถนนเล็กๆเป็นตรอก ท่านได้ยินคนผิวปากทำนองเพลง ‘สายฝน’ ท่านก็เดินเข้าไปไปถึงเสียงของเพลงนั้นที่คนผิวปากปรากฏว่าเป็นชาวจีนที่กำลังซักผ้าอยู่และผิวปากเพลง ‘สายฝน’ อันนี้ท่านเล่าให้ฟังว่า เลยทำให้ปลื้มใจอีกอย่างหนึ่งว่าเพลง ‘สายฝน’ นี้ทุกคนชอบแล้วก็จำทำนองได้ ก็หมายความว่าเป็นเพลงที่ใช้ได้ ต่อมาเมื่อกลับมาจากสวิสมาที่เมืองไทยนี่ มีงานที่วังสระปทุม เสด็จในกรมชัยนาทฯท่านก็อยู่ว่า วงดนตรีเล่นเพลง ‘สายฝน’ ท่านก็มาพูดอีกทีว่าเพลงนี้ไม่แพ้เพลงสรรเสริญพระบารมี คือไปที่ไหนก็มีเพลงนี้ท่านก็รู้สึกปลื้มใจ เราก็ยิ่งปลื้มใจว่าท่านเห็นด้วยและเป็นเพลงที่ออกมาจากฝีมือของเราเอง ถือว่าเพลงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะว่าทุกคนผู้สำเร็จราชการก็โปรด ผู้ซักผ้าก็ชอบ ก็หมายความว่าเป็นชัยชนะอย่างสูงที่ได้ผลิตเพลงอย่างนี้...” คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์“สายฝน”มีจุดเริ่มมาจากหม่อมวิภา (วิภา เก่งระดมยิง อดีตหม่อมในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ)โดยในขณะที่พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องในตำหนักที่ใกล้ประตูมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผอิญฝนเกิดตกลงมาหม่อมวิภาเดินไปปิดหน้าต่าง มองเห็นฝนกำลังตกจึงเดินกลับมาพร้อมด้วยคำอุทานจากแรงบันดาลใจว่า “สาดเป็นสายพรายพลิ้วทิวทุ่ง”

เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ วงดนตรี N.Q. Tonkunstler Orchestra ได้อัญเชิญไปบรรเลง ณ Concert Hall

กรุง Vienna เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2507 และสถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลงนี้พร้อมเสนอข่าวไปทั่วประเทศอีกด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” “Near Dawn”

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในขณะที่ทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชโดยพระราชทานทำนองให้ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ประเสริฐ ณ นครอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำไปประพันธ์คำร้องภาษาไทยโดยมิได้ทรงกำหนดพระราชประสงค์ ซึ่ง ศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ประเสริฐได้ให้สัมภาษณ์ว่าแรงบันดาลใจของเนื้อเพลงนี้มาจากเสียงไก่ขันที่ได้ยินจากข้างบ้าน “บ้านที่อยู่นั้น คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจท่านก็ต้องการจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เพื่อให้ไก่ที่อยู่ในกรงสามารถไข่ได้มากแล้วก็ให้อาหารเต็มที่ ตื่นเช้ามาไก่ขันกันเต็มไปหมดเลยก็ได้แรงบันดาลใจจากอันนั้น”

เพลงพระราชนิพนธ์ “ใกล้รุ่ง” เป็นเพลงที่ศ.ดร.ประเสริฐกล่าวว่ามีเสียงไมเนอร์ครึ่งเสียง คือเสียง “แต่” ในวรรคที่มีคำร้องว่า “ได้ยินเสียงแว่วดังแผ่วมาแต่ไกลไกล” ซึ่งคนไทยยังไม่เคยชิน แต่ในที่สุดก็ยอมรับและเป็นที่นิยมในโอกาสต่อๆมา นอกจากนี้ยังเป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงนำลูกล้อลูกรับของดนตรีไทยมาใส่ไว้ในทำนองด้วย

ศ.ดร.ประเสริฐเล่าว่าได้ใช้เวลาแต่งเนื้อร้องเพียง 1 ชั่วโมงแต่ด้วยความไม่ชำนาญในโน้ตสากล จึงแต่งในลักษณะ “จบเพลงวรรคหนึ่งก็ประพันธ์เนื้อไปวรรคหนึ่งพอจบตอนที่สามไม่ทราบว่าที่มีจุด 2 จุดท้ายโน้ตเพลงหมายความว่าให้บรรเลงย้อนต้นและต้องแต่งท่อนที่สี่อีกจึงลงท้ายเพลงว่า “โอ้ในยามนี้เพลินหนักหนาแสงทองนวลผ่องนภา แสนเพลินอุราเหลือลืม” เมื่อจบท่อนที่ 3 ต่อมาเมื่อพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงอธิบายให้ทราบว่าจะต้องแต่งท่อนที่ 4 เพิ่มเติมอีก จึงได้เพิ่ม “หมู่มวลวิหคบินผกมาแต่รังนอน เฝ้าเชยชิดช้อนลิ้มชมบัวบาน” ส่วนตอนที่ว่า “ฟังเสียงบรรเลง ดังเพลงขับขาน สอดคล้องกังวาน ซาบซ่านจับใจ” พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงกรุณาเพิ่มเติมให้”เพลงพระราชนิพนธ์“ ใกล้รุ่ง” นี้ โปรดเกล้าฯให้นำออกบรรเลงครั้งแรกทางวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ สำหรับคำร้องภาษาอังกฤษ โปรดเกล้าฯให้ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ฯ แต่งขึ้นภายหลัง โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงช่วยแก้ไขให้ด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “ชะตาชีวิต” “H.M. Blues”

เป็นเพลงบลูส์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่เสด็จฯทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์หลังเสวยราชสมบัติแล้วเป็นเพลงที่มีทำนองเรียบง่าย อาศัยการดำเนินเสียงประสานของคอร์ดบลูส์ จำนวน 12 ห้องเรียกว่า blues progession เป็นหลักทรงพระราชนิพนธ์ทำนองแล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษโดยใช้ชื่อว่า “H.M. Blues” ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าคงจะหมายถึง His Majesty’s Blues แต่แท้จริงหมายถึง Hungry Men’s Blues เพราะเหตุว่าในงานรื่นเริงที่ทรงเชิญข้าราชบริพาร นักเรียนไทยไปร่วมงานเป็นการส่วนพระองค์นั้นทรงบรรเลงเพลงเป็นเวลาครึ่งคืนโดยมิได้ทรงหยุดเพื่อเสวยพระกระยาหารเลยในขณะที่ผู้ได้รับเชิญทุกคนได้รับพระราชทานอาหารอิ่มหนำสำราญ คำร้องภาษาไทยซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ ศ.ดร.ประเสริฐ ประพันธ์นั้นศ.ดร.ประเสริฐเล่าว่าด้วยเหตุที่โน้ตเพลงและคำร้องภาษาอังกฤษอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์คำร้องภาษาไทยจึงมีความหมายคนละแบบต่างกันไปอย่างมากแต่ก็มีหลักให้เนื้อร้องเพลงบลูส์เป็นไป ตามพระราชประสงค์คือตอนท้ายต้องสะท้อนปรัชญาชีวิตที่ให้มีความหวังอยู่ด้วย “เป็นเพลงบลูส์นี่ ก็ให้มันเป็นเพลงเศร้าแต่ว่าในตอนท้ายก็ต้องให้เป็นว่า ‘สักวันบุญมา ชะตาคงดี’ อะไรประเภทนี้ให้ต้องกับพระราชประสงค์” การประพันธ์คำร้องในตอนต้น ผู้ประพันธ์เข้าใจผิดว่าโน้ตครึ่งเสียงหรือเสียง Minor ควรจะแต่งเนื้อด้วยคำตาย เช่น “หากเย็นลงฟ้าคงยิ่งมืดยิ่งมัวมิด” แต่ภายหลังได้รับคำชี้แจงจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริและทรงช่วยปรับปรุงแก้ไข คำร้องจึงไพเราะเพราะพริ้งขึ้น เพลงพระราชนิพนธ์ “H.M. Blues” นี้เป็นเพลงหนึ่งที่ Carnegie Hall Jazz Band ประเทศสหรัฐอเมริกาได้อัญเชิญไปบรรเลงเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538


เพลงพระราชนิพนธ์ “ดวงใจกับความรัก” “Never Mind The Hungry Men’s Blues”

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในช่วงระยะต้นรัชกาล ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินศึกษาต่อ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และขณะที่ทรงศึกษาอยู่นั้น ได้ทรงดนตรีกับวง “กระป๋อง” โดยโปรดเกล้าฯว่า ถ้าหากข้าราชบริพารหรือนักดนตรีสมัครเล่นผู้ใดไม่อาย ก็ให้เข้ามาร่วมบรรเลงได้ เพลงนี้เกิดขึ้นภายหลังเพลงพระราชนิพนธ์ “H.M. Blues” เนื่องจากมีผู้ข้องใจในความหมายของคำว่า H.M. จึงทรงไขปริศนาภายหลังเสวยพระกระยาหารในวันที่มีการทรงดนตรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ศาสตราจารย์ Ted Pease ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการประพันธ์เพลงแจ๊สแห่ง

 Barklee College of Music, Boston, Massachusetts ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ร่วมเรียบเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ในโครงการ “ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์”

 ได้กล่าวถึงเพลงพระราชนิพนธ์ “Never Mind the Hungry Men’s Blues” ไว้ว่า 

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในลักษณะ swing composition ที่น่าชื่นชม เข้าในลักษณะแจ๊สคลาสสิคของ Duke Ellington เช่น เพลง Don’t Get Around Much Anymore และ เพลง Let a Song Fo Out of My Heart เขาจึงเรียบเรียงเพลงนี้ด้วยความรื่นรมย์ 

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระทัยถึงสไตล์เพลงแจ๊สอย่างลึกซึ้ง การเรียบเรียงของเขาจึงราบรื่นราวกับหลั่งไหลออกมาตามธรรมชาติ


เพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชวัลลภ”

เพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชวัลลภ” เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อพ.ศ. 2496 และโปรดเกล้าฯ ให้พันตรีศรีโพธิ์ ทศนุต ประพันธ์คำร้อง และพระราชทานแก่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2496 เป็นเพลงทำนองปลุกใจ ให้รักชาติ ลักษณะเดียวกันกับที่พระราชทานแก่สถาบันอุดมศึกษาต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความ “รู้รักสามัคคี” ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


เพลงพระราชนิพนธ์ “อาทิตย์อับแสง” “Blue Day”

เป็นเพลงที่พระราชนิพนธ์ขณะเสด็จประทับแรมบนภูเขาในเมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

ต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพลงพระราชนิพนธ์ “Blue Day” นี้ โปรดเกล้าฯพระราชทานให้ Michael Todd Production นำออกบรรเลงที่มหานครนิวยอร์คร่วมกับเพลงพระราชนิพนธ์ “สายฝน” ด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “เทวาพาคู่ฝัน” “Dream Of Love Dream Of You”

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์อีกเพลงหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ต่อจาก เพลงพระราชนิพนธ์ “อาทิตย์อับแสง” และโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ได้แสดงถึงเจตนารมณ์ที่ทรงประพันธ์คำร้องเพลง“อาทิตย์อับแสง”และ “เทวาพาคู่ฝัน” ว่าในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเมื่อครั้งยังทรงเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร อยู่นั้นต่างประทับห่างไกลกัน โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับตากอากาศอยู่ที่เมือง Davos ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้องทรงจากกันก็เปรียบเหมือน “อาทิตย์อับแสง”และในพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ก็คงทรงหวังให้ “เทวาพาคู่ฝัน”มาให้ จึงทรงประพันธ์คำร้องเพลงทั้งสองนี้ถวาย

เพลงพระราชนิพนธ์“คำหวาน” “Sweet Words”

เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ในระยะแรกที่เสด็จฯนิวัตพระนครฯ

เมื่อ พ.ศ. 2493 แล้วโปรดเกล้าฯพระราชทานให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


เพลงพระราชนิพนธ์ “มหาจุฬาลงกรณ์”

เนื่องจากเพลงพระราชนิพนธ์ในระยะแรก ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่ทรงใช้ Scale แบบสิบสองเสียง (Chromatic Scale) ทรงใช้คอร์ดอย่างสลับซับซ้อนและพัฒนาออกไปไกลมากซึ่งทำให้เป็นเพลง

ที่จำยาก เมื่อทรงทราบเช่นนี้ จึงมีพระราชปรารภว่าแม้แต่เพลงที่ใช้เสียงเพียง 5 เสียง (Pentatonic Scale) ก็สามารถแต่งให้ดีให้ไพเราะได้เช่นกัน จึงโปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ เริ่มวรรคแรก โดยใช้ Scale 5 เสียงขึ้นก่อนจากนั้นจึงทรงต่อจนจบเพลง ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2492 ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดย ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้ขอพระราชทานเพลงประจำมหาวิทยาลัยมา จึงได้โปรดเกล้าฯพระราชทานทำนองเพลงแบบใช้ Pentatonic Scale คือ 5 เสียงซึ่งได้

ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ก่อนแล้ว พระราชทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโปรดเกล้าฯให้ใส่คำร้องเอง ภายหลังท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยากับนายสุภร ผลชีวิน จึงได้ประพันธ์คำร้องขึ้นถวายเมื่อต้น พ.ศ. 2497 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศลนำทำนองเพลง“มหาจุฬาลงกรณ์” ในแนวสากลมาแต่งทำให้เป็นแนวไทยเดิม นายเทวาประสิทธิ์รับพระราชทานลงมาทำและบรรเลงถวายด้วยวงปี่พาทย์ถึงสองครั้งด้วยกัน ต่อมาเมื่อนายเทวาประสิทธิ์ไปสอนดนตรีไทยให้แก่ชมรมดนตรีของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้นำเพลงนี้มาปรับปรุงให้เป็นเพลงโหมโรง สำหรับใช้โหมโรงในการบรรเลงดนตรีไทยของชมรม


เพลงพระราชนิพนธ์ “แก้วตาขวัญใจ”  

โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


เพลงพระราชนิพนธ์ “พรปีใหม่”  

ในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างพ.ศ. 2494 – 2495 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะพระราชทานพรปีใหม่ให้แก่พสกนิกรของพระองค์เป็นบทเพลงจึงพระราชทานเพลงที่ทรงแต่งร่วมกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งทรงแต่งไว้นานมาแล้วดังจะเห็นได้จากกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่คณะกรรมการโครงการ 

“ ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 มีใจความว่า “...เพลง ‘พรปีใหม่’ คนก็ว่าแต่งในวันปีใหม่นั่นเอง หรือวันก่อนวันปีใหม่แท้จริงแต่มานานแล้ว แต่งมานานก่อนที่จะออกปีใหม่เป็นปีหรือสองปี ตอนนั้นไม่สบายคืออยู่ที่เมืองนอก ไปมีอุบัติเหตุ แล้วหมอก็บอกว่าห้ามเล่นแซ็กโซโฟนแต่ว่าท่านจักรพันธ์อยู่ด้วย เมื่อท่านอยู่ด้วยก็ให้ท่านเป่า ให้ท่านเป่าแซ็กโซโฟนท่านก็เป่ามีเสียงออกมาได้ เมื่อท่านเป่าท่านก็ไม่รู้ว่านิ้วจะวางอย่างไรลงท้ายก็เอานิ้วของเราใส่บนแซ็กโซโฟน แล้วท่านก็เป่า ก็เล่นได้ลงท้ายท่านก็เรียงไปมา ท่านก็เล่นแซ็กโซโฟนได้ เมื่อเล่นแซ็กโซโฟนได้และเมื่อหมออนุญาตให้เป่าแซ็กโซโฟน ก็เลยเริ่มเล่นเป็นเพลงที่แต่งเอาเองคนหนึ่งเล่นส่วนหลัก แล้วอีกคนก็เล่นต่อ สลับกันไปอย่างนี้ แล้วจดเอาไว้เมื่อจดเอาไว้แล้ว ก็นับว่าเป็นเพลงขึ้นมา มาถึงปลายปี ก็เลยนึกว่าเอ๊ะ...เราแต่งเพลงสำหรับให้พรปีใหม่ ก็แต่งเอาอันนี้ที่แต่งไว้แล้วซึ่งเป็นเพลงที่มีคนแต่งสองคน ไม่รู้ว่าเป็นเพลงก็มาปรับปรุงให้เป็นเพลงได้และเมื่อจดเป็นเพลงแล้ว ก็ให้วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปออกในวันปีใหม่ไม่ใช่ว่าเพลงนี้แต่งตั้งแต่วันนั้นแต่งมาก่อนแล้วก็แต่งแบบทุลักทุเลแบบนี้...” เพลงพระราชนิพนธ์นี้ได้นำออกมาบรรเลงทางสถานีวิทยุ อ.ส. ในโอกาสต่อมาและเป็นที่นิยมบรรเลงในโอกาสปีใหม่เรื่อยมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน


เพลงพระราชนิพนธ์ “รักคืนเรือน” “Lover Over Again”

โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


เพลงพระราชนิพนธ์ “ยามค่ำ” “Twilight”

โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ศาสตราจารย์ Ted Pease ผู้เรียบเรียงเสียงประสานแห่ง Berklee College of Music, Boston, Massachusettes ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมเรียบเรียงเพลงพระราชนิพนธ์ 

ในโครงการ "ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์” ของโรงเรียนจิตรลดาได้กล่าวแสดงความชื่นชมที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ diminished chords ในการเชื่อมทำนองเพลง “Twilight” ได้อย่างดีเยี่ยม


เพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” “Smiles”

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯไปทรงเยี่ยมโรงเรียนสอนคนตาบอดได้ทรงพระเมตตาพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงนี้ขึ้น เพื่อพระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอดเพื่อเป็นการกล่อมเกลาจิตใจคนตาบอดให้เบิกบานยินดี โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้านคำร้องภาษาอังกฤษนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงดัดแปลงจากบทกลอนภาษาอังกฤษชื่อ Smiles ในหนังสือชื่อ Bed Time Story (ภายหลังเมื่อเวลาผ่านไปนาน ก็ทรงลืมนามผู้แต่งและไม่สามารถค้นหนังสือดังกล่าวพบอีกเลย) บทกลอนนี้ 

พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ รับสั่งว่านับเป็นเรื่องแปลกที่เมื่อนำมาประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ “Smiles” แล้วสามารถร้องได้อย่างลงตัวพอดี ต่อมาเมื่อคำร้องเสร็จเรียบร้อย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปพระราชทานแก่โรงเรียนสอนคนตาบอดและทรงแนะนำการร้องการบรรเลงให้ด้วย




เพลงพระราชนิพนธ์ “ธงไชยเฉลิมพล”  

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่กองทัพไทยเมื่อพ.ศ. 2495 เพื่อใช้ในการเชิญธงไชยเฉลิมพลในพิธีการของกองทัพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์โน้ตเพลงพระราชนิพนธ์ “ธงไชยเฉลิมพล” และ “มาร์ชราชวัลลภ” ออกจำหน่ายเพื่อการกุศลในพ.ศ. 2497 ด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “เมื่อโสมส่อง” “I Naver Dream”  

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลีลาวอลทซ์ อีกเพลงหนึ่งที่ทรงพระราชนิพนธ์ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ ต่อมาภายหลังจึงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสมโรจน์สวัสดิกุล ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย


เพลงพระราชนิพนธ์ “ลมหนาว” “Love In Spring  

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ภายหลังเสด็จฯนิวัตพระนครฯ เป็นการถาวรแล้วโดยโปรดเกล้าฯพระราชทานเพลงนี้แก่สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษเพื่ออัญเชิญไปบรรเลงในงานประจำปีทั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ

และท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยาประพันธ์คำร้องภาษาไทย เพลง “ลมหนาว” นี้นับว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเพลงหนึ่ง


เพลงพระราชนิพนธ์ “ศุกร์สัญลักษณ์” “Friday Night Rag”  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงดนตรีส่วนพระองค์ทุกๆ วันศุกร์และได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เพื่อเป็นเพลงประจำวงของวงดนตรี “ลายคราม” (เช่นเดียวกับ เพลงพระราชนิพนธ์ “When” ซึ่งในปัจจุบันเป็นเพลงประจำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์) และจะบรรเลงทุกครั้งที่ทรงดนตรี ด้านคำร้อง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็น “ลูกวง” ประจำวงดนตรีลายครามในขณะนั้น ประพันธ์คำร้องถวายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษซึ่งคำร้องสะท้อนให้เห็นความสนุกสนานและความเป็นกันเองของบรรยากาศในการทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ในยุคนั้น


เพลงพระราชนิพนธ์ “Oh I Say”

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ขณะแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหินและโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นิสิตนักศึกษา ในระหว่างเสด็จฯทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสมัยก่อน


เพลงพระราชนิพนธ์ “Can't You Ever See”  

ทรงพระราชนิพนธ์ทำนอง และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้อง



เพลงพระราชนิพนธ์ “ค่ำแล้ว” “Lullaby”

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อมีพระราชธิดาแล้ว โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษร่วมกับศาสตราจารย์ท่านผู้หญิงนพคุณ ทองใหญ่ณ อยุธยา ประพันธ์คำร้องภาษาไทย เพลงนี้มีผู้เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี แต่มีผู้นำรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาเล่าว่า “สมเด็จพระเทพฯรับสั่งว่าที่จริงแล้วไม่ได้ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ แต่ว่าเมื่อสมเด็จพระเทพฯทรงฟังเพลงนี้ทีไรทรงหลับทุกครั้ง ตอนนั้นท่านเพิ่งประสูติใครๆก็เลยคิดว่าเป็นเพลงสมเด็จพระเทพฯ”


เพลงพระราชนิพนธ์ “สายลม” “I Think Of You”  

ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


เพลงพระราชนิพนธ์ “ไกลกังวล” “เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย”  

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเพลงประจำวงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ โดยจะบรรเลงเป็นเพลงสุดท้ายทุกครั้งที่เลิกเล่นดนตรี ผู้ที่โปรดเกล้าฯให้ประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ คือ อดีตสมาชิกวุฒิสภาของประเทศฟิลิปปินส์ Mr. Raul Manglapus ส่วนคำร้องภาษาไทยที่มีชื่อว่าเพลง “ไกลกังวล” นั้นผู้ประพันธ์คำร้องคือนายวิชัย โกกิละกนิฐ


เพลงพระราชนิพนธ์ “แสงเดือน” “Magic Beams”  

เป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสด็จกลับฯมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว โปรดเกล้าฯให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ทรงประพันธ์คำร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษและโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญไปประกอบการแสดงระบำบัลเล่ต์ซึ่งฝึกซ้อมโดยคุณหญิงเจเนเวียฟ เดมอนในงานพระราชกุศล ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร


เพลงพระราชนิพนธ์ “ฝัน”และ “เพลินภูพิงค์”  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลง “Somewhere Somehow” ขึ้นก่อน และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริทรงประพันธ์คำร้องภาษาอังกฤษ 

และนายศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยชื่อเพลงว่า “ฝัน” 

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ แปรพระราชฐานประทับ ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ใหม่ๆโปรดในความสวยงามของพระตำหนักและอุทยานที่รายล้อมจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำชมเป็นเพลง “เพลินภูพิงค์” อีกเพลงหนึ่ง ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ เล่าว่าเมื่อโปรดเกล้าฯให้แต่ง ครั้งแรกยังไม่เคยตามเสด็จฯ ไปภูพิงคราชนิเวศน์ จึงไม่ได้แต่งทันทีต่อมาเมื่อมีโอกาสตามเสด็จฯ ภายหลังจึงได้เขียนคำร้องออกมาได้


เพลงพระราชนิพนธ์ “มาร์ชราชนาวิกโยธิน"  

โปรดเกล้าฯ พระราชทานกรมนาวิกโยธินเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2502 และได้โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2502 ในโอกาสที่นาวิกโยธินอเมริกันประจำกองเรือที่ 7 ของสหรัฐอเมริกาเดินทางมาเยือนประเทศไทย และได้ร่วมงานแข่งขันฟุตบอลกับราชนาวีไทยรวมทั้งได้จัดงานแสดงของทหารราชนาวีไทย – อเมริกันเพื่อหารายได้สมทบทุน “มหิดล” ด้วย ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าไทยยังไม่มีเพลงประจำกรมนาวิกโยธินจึงได้ทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ขึ้นอย่างกะทันหัน ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานของพล.ร.ต.สนอง นิสาลักษณ์ ผู้บังคับการกรมนาวิกโยธิน ขณะนั้นซึ่งได้นำความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นให้แก่เหล่านาวิกโยธินมาตราบเท่าทุกวันนี้ส่วนคำร้อง ในตอนแรกมีผู้ร่วมประพันธ์ 2 คน คือ เรือเอกจตุรงค์ พันธุ์คงชื่น ร.น. 

(ปัจจุบันได้รับพระราชทานยศพลเรือโท) และเรือเอกสุมิตร ชื่นมนุษย์ ร.น. (ปัจจุบันได้รับพระราชยศพลเรือโท) ต่อมาคำร้องได้รับการแก้ไขขัดเกลาโดยผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน ได้แก่ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคพลเรือตรีจวบ หงสกุล พลเรือตรีปรีชา ดิษยนันท์ และนายแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ เพลงนี้วงดนตรี N.Q. Tonkunstlerได้อัญเชิญไปบรรเลง ณ Concert Hall กรุง Vienna เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2507 ด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “Kinari Waltz (Kinari Suite)”  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลง “Kinari Waltz”เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 33


เพลงพระราชนิพนธ์ “Nature Waltz (Kinari Suite)”  

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลง “Nature Waltz” เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 31 เป็นเพลงหนึ่งในชุด “(Kinari Suite)” ทรงแยกและเรียบเรียงประสานเสียงประสานด้วยพระองค์เอง แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้วงดนตรีสุนทราภรณ์นำออกบรรเลงประกอบการแสดงบัลเล่ห์เรื่องมโนห์รา ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เพื่อหารายได้บำรุงสภากาชาดไทย


เพลงพระราชนิพนธ์ “The Hunter (Kinari Suite)”  

The Hunter เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 32 ในชุด Kinari Suite พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ตามเนื้อเรื่องของนางมโนห์ราในสุธนชาดก เป็นตอนที่นางกินรีพี่น้องทั้งเจ็ด มีนางมโนห์ราเป็นน้องสุดท้อง ได้พากันไปยังสระโบกขรณี ถอดปีกถอดหางออกวางไว้ แล้วลงเล่นน้ำในสระน้ำในสระด้วยความสำราญ พรานบุญคิดจับนางกินรีไปถวายพระสุธน ก็โยกนาศบาศไปยังกลางหมู่นางกินรี นาคบาศได้คล้องรัดมือนาง มโนห์ราไว้แน่นหนา กินรีพี่ๆ เห็นพรานก็เกรงกลัว ต่างสวมปีกสวมหางบินหนีกลับเขาไกรลาศ


เพลงพระราชนิพนธ์ “แผ่นดินของเรา” “Alexandra”  

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ในวันพระราชทานเลี้ยงเจ้าหญิง Alexandra แห่งเคนท์ สหราชอาณาจักรอังกฤษ ซึ่งเสด็จฯ มาเยือนราชอาณาจักรไทย เป็นการส่วนพระองค์

พลเรือตรี ม.ล.อัศนี ปราโมช ได้เล่าถึงที่มาของเพลงนี้ว่า “วันพระราชทานเลี้ยงเจ้าหญิง Alexandra ที่ศาลาผกาภิรมย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ มาก่อนเจ้าหญิงเสด็จฯ นิดหนึ่งทรงมีทำนองเพลงมายื่นให้คุณพ่อผม (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช) คุณเสนีย์ท่านก็เขียนเนื้อเพลงเป็นภาษาอังกฤษ หลังจากเสวยแล้วทรงดนตรีก็ได้เล่น...คุณแมนรัตน์ร้อง ตรงกลางท่านมาเสริมทีหลัง ตรงกลางที่ว่า “เรามีป่าไม้” เดิมยังไม่มี วันหลังจึงได้ทรงต่อ เพราะขาดตรงกลาง....” คำร้องภาษาไทยคือ “แผ่นดินของเรา” เกิดขึ้นในระยะหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถโปรดเพลงปลุกใจให้รักชาติบ้านเมืองทรงมีพระราชดำริว่าเพลงนี้น่าจะใส่คำร้องภาษาไทยได้จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานทำนองเพลงนี้จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคประพันธ์คำร้องภาษาไทยเป็นเพลง “แผ่นดินของเรา” ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ เล่าว่า “...ท่านมีเพลง “Alexandra” แล้วท่านก็เสียดาย 

สมเด็จฯ โปรดเกล้าฯ ให้แต่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงดีดเปียโนให้ฟัง แล้วก็แต่ง ตรงนี้แต่งยาก...เรามีป่าไม้....”


เพลงพระราชนิพนธ์ “พระมหามงคล”  

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2502 เป็นวันครบรอบ 20 ปี ของการก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีสุนทราภรณ์ เข้าเฝ้าฯ และได้พระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ให้เป็นเพลงบรรเลงนำประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งนายเอื้อ สุนทรสนาน ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติตั้งชื่อเพลงนี้ว่าเพลง “พระมหามงคล” ประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์จนถึงทุกวันนี้


เพลงพระราชนิพนธ์ “ในดวงใจนิรันดร์”  

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่ส่งพระราชนิพนธ์คำร้องเป็นภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เดิมทรงตั้งชื่อเพลงว่า “I Can’t Get You Out of My Mind” ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็น “Still on My Mind” ส่วนคำร้องภาษาไทย โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์โดยแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษในลักษณะวรรคต่อวรรคและรักษาความหมายเดิมของคำร้องภาษาอังกฤษซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ไว้ด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “เพลงเตือนใจ”  

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 38 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองและคำร้องภาษาอังกฤษใน พ.ศ.2508 ต่อมาใน พ.ศ.2510 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค และหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ ประพันธ์คำร้องภาษาไทยถวาย


เพลงพระราชนิพนธ์ “ไร้จันทร์” “ไร้เดือน” “No Moon”

เป็นเพลงที่ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองอีกเพลงหนึ่งซึ่งอยู่ในชุดเดียวกันกับเพลงพระราชนิพนธ์ “Still on My Mind” และเพลงพระราชนิพนธ์ “Old Fashioned Melody” ต่อมานายอาจินต์ ปัญจ์พรรค ได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ในชื่อเพลงว่า “ไร้จันทร์” ซึ่งนายอาจินต์ ปัญจ์พรรค เล่าว่าการแต่งเพลงนี้ใช้วิธีแปลจากคำร้องภาษาอังกฤษแบบคำต่อคำ โดยให้มีความหมายตรงกันและให้เสียงวรรณยุกต์สอดคล้องกับท่วงทำนองของเพลงด้วย ส่วนท่านผู้หญิงมณีรัตน์บุนนาค และ ม.ล.ประพันธ์ สนิทวงศ์ ได้ประพันธ์คำร้องภาษาไทย ชื่อเพลงว่า “ไร้เดือน”


เพลงพระราชนิพนธ์ “เกาะในฝัน” “Dream Island”  

เป็นเพลงที่4 ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองและโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาคประพันธ์คำร้องภาษาไทย


เพลงพระราชนิพนธ์ “แว่ว” “Echo”  

เป็นเพลงที่ทรงพระราชนิพนธ์คำร้องภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เองในชุดเดียวกันกับเพลงพระราชนิพนธ์ “Still on My Mind”, “Old Fashioned Melody”, “No Moon” และ “Dream Island” และโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นครประพันธ์คำร้องภาษาไทย ซึ่ง ศ.ดร.ประเสริฐประสงค์จะรักษาความหมายเดิมของเพลงพระราชนิพนธ์ “Echo” ไว้จึงแต่งคำไทยจากคำร้องพระราชนิพนธ์ภาษาอังกฤษ และใช้ชื่อภาษาไทยว่า “แว่ว” สำหรับการเรียบเรียงเสียงนั้น พระราชทานทำนองให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช นำไปเรียบเรียงซึ่ง ม.ล.อัศนี เล่าว่า “ตอนแรกที่พระราชทานเพลงนี้ (ยังไม่มีชื่อ) ลงมาให้ผมไปแยกเสียงประสาน ผมก็เอาสาระสำคัญของเพลงนี้มาพิจารณาเห็นว่าช่องโน้ตแรกเป็นคู่ 5 ก็เลยเอาคู่ 5 มาต่อๆกันเป็นintroduction ซึ่งฟังแล้วได้ยินเหมือนเสียงสะท้อนจึงคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่ภายหลังเพลงพระราชนิพนธ์นี้จึงพระราชทานชื่อว่า “Echo” เพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ โปรดเกล้าฯ ให้นำออกบรรเลงครั้งแรกในงานสังคีตมงคลเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2509


เพลงพระราชนิพนธ์ “เกษตรศาสตร์”  

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 42 ทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ.2509 ทรงพระกรุณษโปรดเกล้า ให้ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ประพันธ์คำร้องถวายและพระราชทานเป็น เพลงประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำออกบรรเลงครั้งแรกในวันทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีสากลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ บริเวณพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2509 อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารเย็นแก่ อาจารย์ ข้าราชการ นิสิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วย


เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”

เพลงนี้สืบเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมีพระราชประสงค์จะพระราชทานกำลังใจให้แก่บรรดาข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือนมิให้ท้อถอยในการปฏิบัติหน้าที่ต่อชาติ บ้านเมืองจึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เขียนคำกลอนเตือนใจแล้วพิมพ์แจกเหล่าข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และพลเรือนต่อมาทรงกราบบังคมทูลขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทำนองเพลง “ความฝันอันสูงสุด” จึงเป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกที่มีการเขียนคำร้องก่อนแล้วทรงใส่ทำนองภายหลัง เพลงนี้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมช เรียบเรียง

เป็นเพลงที่ ม.ล.อัศนีเรียกว่า Functional Music คือเนื้อเพลงมาก่อนแล้วเจาะจงเพื่อวัตถุประสงค์จำเพาะที่กำหนดไว้แตกต่างจากยุคเดิมซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากแรงบันดาลพระราชหฤทัยโดยตรง


เพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้”  

เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองจากคำร้องเป็นเพลงที่ 2 ต่อจาก

เพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด”และคำร้องนี้ คือพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยข้าราชการ พลเรือน ทหาร ตำรวจซึ่งได้จัดแข่งขันฟุตบอลการกุศล และเข้าเฝ้าฯ ณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ต่อมานายสมภพ จันทรประภา ได้ขอพระราชทานพระราชดำรัสนี้มาประพันธ์เป็นกลอนถวาย และได้พระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่ แก่ทหารอาสาสมัครและตำรวจชายแดน ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเสร็จใหม่ๆ ได้พระราชทานให้ ม.ล.อัศนี ปราโมชเรียบเรียงและโปรดเกล้าฯ ให้วงดนตรี อ.ส.วันศุกร์ บรรเลงก่อน ภายหลังจากที่ วงอ.ส.วันศุกร์ได้เล่นเพลงนี้แล้วได้ทรงนำกลับไปแก้ไขและเรียบเรียงขึ้นใหม่ก่อนจะพระราชทานออกมาใหม่ เพลงรุ่นหลังๆนี้มีพระราชประสงค์ให้นักดนตรีทุกคนมีส่วนเข้ามาช่วยกันแสดงความคิดเห็นปรับปรุงแก้ไขทำนองมีพระราชดำรัสว่า การแต่งแบบนี้เรียกว่า“การแต่งแบบสหกรณ์” เกร็ดการพระราชนิพนธ์เพลงนี้ 

นายแมนรัตน์เล่าว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นเสมือนนักประพันธ์เพลงหรือปราชญ์ของโลก คือทรงแต่งสดๆ เมื่อทรงเกิดแรงบันดาลพระราชหฤทัยขึ้นมา เช่นเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ทรงเขียนเส้นโน้ตห้าเส้นบนซองจดหมายแล้วทรงพระราชนิพนธ์ทำนองเพลงออกมาโดยฉับพลัน”


เพลงพระราชนิพนธ์ “เรา-เหล่าราบ 21”  

เมื่อคราวที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เดือนกันยายน พ.ศ.2519 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ ร.ต.ท.วัลลภ จันทร์แสงศรี (ปัจจุบันได้รับพระราชทานยศพันตำรวจโท) แต่งเนื้อเพลงให้แก่นายทหารเหล่านักรบ

โดยทรงขอให้มีข้อความว่า “เรา-เหล่านักรบ21” เพลงนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง พระราชนิพนธ์ทำนองพระราชทานหลังจากที่ได้เนื้อร้องแล้ว


เพลงพระราชนิพนธ์ “Blues for Uthit”

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 46 ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นายอุทิศ ทินกร ณ อยุธยา นักดนตรี วงดนตรี “อ.ส. วันศุกร์” ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ.2522 และได้พระราชทานให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ นำออกบรรเลงครั้งแรกทางสถานีวิทยุ อ.ส.เมื่อวันศุกร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2522

เพลงพระราชนิพนธ์ “รัก”  

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 47 ทรงพระราชนิพนธ์ในเดือนธันวาคมพ.ศ.2537 

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ  กราบบังคมทูลขอให้พระบาทสเด็จพระเจ้าอยู่หัว 

ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองสำหรับกลอนสุภาพ 3 บท ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพระชนมายุ 12 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลงนี้แก่วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ บรรเลงทุกวันศุกร์และวันอาทิตย์ ตลอดเดือนธันวาคม พ.ศ.2537 ต่อมาเมื่อทรงแก้ไขแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรืออากาศตรี ศาสตราจารย์ ดร.แมนรัตน์ ศรีกรานนท์ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) นักดนตรีในวง อ.ส. วันศุกร์นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ ในงานพระราชทานงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ พ.ศ.2538 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้แจกคำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “รัก” แก่แขกผู้ได้รับเชิญทุกโต๊ะไว้ล่วงหน้า ต่อมาก็เชิญแขกผู้ได้รับเชิญ อาทิ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี นายชวนหลีภัยนายกรัฐมนตรีและนายทหาร ตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่ ขึ้นไปร้องเพลงพระราชนิพนธ์บนเวทีทุกโต๊ะจนทั่วโดยบรรเลงดนตรีนำด้วยพระองค์เอง ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำออกทางสถานนีวิทยุ จ.ส.100 เมื่อต้นปี พ.ศ.2538




เพลงพระราชนิพนธ์ “เมนูไข่” 

เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 48 ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2538 

เพื่อพระราชทานเป็นของขวัญวันพระราชสมภพครบ 72 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วยทรงรำลึกได้ว่า สมเด็จพระเชษฐภคินีโปรดเสวยพระกระยาหารไข่ เป็นแรงบันดาลพระราชหฤทัยให้ทรงพระราชนิพนธ์กอปรกับทรงพบโคลงสี่ “เมนูไข่” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เมื่อพ.ศ 2518 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ พลตรี หม่อมหลวงอัศนี ปราโมช นักดนตรีในวง อ.ส. วันศุกร์ นำไปแยกและเรียบเรียงเสียงประสาน เพื่อให้วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์ นำออกบรรเลง และขับร้องในงานพระราชทานเลี้ยงในโอกาสที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์ ณ ศาลาดุสิดาลัย เมื่อวันที่ 8พฤษภาคม พ.ศ. 2538


ความคิดเห็น